กระเป๋าเงิน
ออเดอร์
ไทย
USD

คู่มือเริ่มต้นสำหรับการจัดการความเสี่ยง

2024-02-01

การจัดการความเสี่ยงคืออะไร

เราต้องจัดการกับความเสี่ยงตลอดช่วงชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นขณะทำกิจกรรมทั่วไป (เช่น ขับรถ) หรือเมื่อเราทำประกันหรือแผนการรักษาพยาบาลใหม่ โดยพื้นฐานแล้ว การจัดการความเสี่ยงก็คือการประเมินและการตอบสนองต่อความเสี่ยง

คนส่วนใหญ่จัดการความเสี่ยงเหล่านี้โดยไม่รู้ตัวในระหว่างทำกิจกรรมในแต่ละวัน แต่ในแง่ตลาดการเงินและการบริหารธุรกิจ การประเมินความเสี่ยงเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญและต้องใช้ความรอบคอบอย่างสูง

ในทางเศรษฐศาสตร์ เราอาจอธิบายการจัดการความเสี่ยงว่าเป็นกรอบการทำงานที่กำหนดวิธีที่บริษัทหรือนักลงทุนจะรับมือกับความเสี่ยงทางการเงิน ซึ่งมีอยู่ในธุรกิจทุกประเภท 

สำหรับนักเทรดและนักลงทุน กรอบการทำงานอาจรวมถึงการจัดการสินทรัพย์หลายประเภท เช่น คริปโทเคอร์เรนซี, Forex, สินค้าโภคภัณฑ์ ดัชนี และอสังหาริมทรัพย์

ความเสี่ยงทางการเงินมีหลายประเภท ซึ่งสามารถจำแนกได้หลายวิธี บทความนี้จะให้ภาพรวมของกระบวนการจัดการความเสี่ยง นอกจากนี้ยังนำเสนอกลยุทธ์บางอย่างที่อาจช่วยให้นักเทรดและนักลงทุนลดความเสี่ยงทางการเงินได้

การจัดการความเสี่ยงมีขั้นตอนอย่างไร

โดยทั่วไป กระบวนการจัดการความเสี่ยงประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การกำหนดเป้าหมาย การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง การกำหนดการตอบสนอง และการติดตาม ทั้งนี้ ขั้นตอนเหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยขึ้นอยู่กับบริบท

การตั้งวัตถุประสงค์

ขั้นตอนแรกคือการกำหนดเป้าหมายหลัก ซึ่งมักเป็นการยอมรับความเสี่ยงของบริษัทหรือบุคคล หรือกล่าวได้ว่า บุคคลนั้นยินดีรับความเสี่ยงในการก้าวไปสู่เป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด

การระบุความเสี่ยง

ขั้นตอนที่สองเป็นการระบุและกำหนดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระบุเหตุการณ์ทุกประเภทที่อาจก่อให้เกิดผลเสีย ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ขั้นตอนนี้อาจให้ข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความเสี่ยงทางการเงิน

การประเมินความเสี่ยง

หลังจากระบุความเสี่ยงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการประเมินความถี่และความรุนแรงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยจะจัดอันดับความเสี่ยงตามลำดับความสำคัญ ซึ่งเอื้อต่อการกำหนดแผนหรือการใช้แผนรับมือที่เหมาะสม

การกำหนดแผนรับมือ

ขั้นตอนที่สี่ คือการกำหนดแผนการรับมือกับความเสี่ยงแต่ละประเภทตามระดับความสำคัญ ซึ่งจะกำหนดแบบแผนการดำเนินการในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น

การเฝ้าติดตาม

ขั้นตอนสุดท้ายของกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงคือการเฝ้าติดตามประสิทธิภาพในการรับมือต่อเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งมักต้องรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

การจัดการความเสี่ยงทางการเงิน

มีหลากหลายสาเหตุที่อาจทำให้กลยุทธ์หรือการกำหนดแผนการเทรดไม่ประสบผลสำเร็จ ตัวอย่างเช่น นักเทรดอาจสูญเสียเงินเนื่องจากตลาดเคลื่อนไหวสวนทางกับ Futures Contract Position หรือเพราะตกใจและเทขายจนหมดด้วยความตื่นตระหนก

ปฏิกิริยาทางอารมณ์มักทำให้นักเทรดลืมหรือละเลยต่อกลยุทธ์ที่ตั้งเอาไว้ โดยจะสังเกตได้ชัดเจนเป็นพิเศษในช่วงตลาดหมีและช่วงเวลา Capitulation

ในตลาดการเงิน คนส่วนใหญ่ยอมรับว่าการมีกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมจะช่วยให้บรรลุผลสำเร็จได้มาก ในทางปฏิบัติอาจทำได้ง่ายเพียงแค่ตั้งคำสั่ง Stop-Loss หรือ Take-Profit ให้กับ Order

กลยุทธ์การซื้อขายที่มีประสิทธิภาพควรมีแผนดำเนินการที่เป็นไปได้อย่างชัดเจน หมายความว่านักเทรดจะเตรียมความพร้อมกับการรับมือสถานการณ์ทุกประเภทได้มากขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธี ตามหลักการแล้ว ควรทบทวนและปรับใช้กลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง

ด้านล่างนี้คือตัวอย่างความเสี่ยงทางการเงินบางส่วน พร้อมด้วยคำอธิบายสั้นๆ ถึงวิธีการลดความเสี่ยง

  • ความเสี่ยงด้านตลาด: สามารถลดได้โดยตั้งคำสั่ง Stop-Loss ให้กับการเทรดแต่ละรายการเพื่อให้ปิด Position โดยอัตโนมัติก่อนที่จะเกิดการขาดทุนมากขึ้น

  • ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง: สามารถลดได้ด้วยการซื้อขายในตลาดที่มีปริมาณสูง โดยปกติแล้ว สินทรัพย์ที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูงมักจะมีสภาพคล่องมากกว่า

  • ความเสี่ยงด้านเครดิต: สามารถลดได้โดยการซื้อขายผ่านตลาดแลกเปลี่ยนที่น่าเชื่อถือเพื่อที่ผู้ยืมและผู้ให้กู้ (หรือผู้ซื้อและผู้ขาย) จะไม่จำเป็นต้องไว้วางใจซึ่งกันและกัน

  • ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ: นักลงทุนสามารถลดความเสี่ยงในการดำเนินงานได้โดยการกระจายการลงทุนในพอร์ตเพื่อกันการลงทุนในโปรเจกต์หรือบริษัทเดียว และอาจทำการค้นคว้าเพื่อค้นหาบริษัทที่มีโอกาสประสบปัญหาการปฏิบัติการผิดพลาดน้อยกว่า

  • ความเสี่ยงเชิงระบบ: สามารถลดได้ด้วยการกระจายการลงทุนให้พอร์ตโฟลิโอ แต่ในกรณีนี้ ควรกระจายความเสี่ยงกับโปรเจกต์ที่มีข้อเสนอแตกต่างกัน หรือบริษัทที่มาจากอุตสาหกรรมแตกต่างกัน และควรมีความสัมพันธ์ต่อกันต่ำมากที่สุด

กลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงทั่วไป

การจัดการความเสี่ยงไม่ได้มีเพียงวิธีเดียว นักลงทุนและนักเทรดมักใช้เครื่องมือและกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยงที่หลากหลายผสมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายพอร์ตการลงทุน ด้านล่างนี้คือตัวอย่างบางส่วนของกลยุทธ์ที่นักเทรดใช้ลดความเสี่ยง

กฎการเทรด 1%

กฎการเทรด 1% (หรือกฎความเสี่ยง 1%) เป็นวิธีที่นักเทรดใช้เพื่อจำกัดการสูญเสียให้มากที่สุดเพียง 1% จากทุนการเทรดต่อการเทรดแต่ละครั้ง ซึ่งหมายความว่าจะสามารถซื้อขายด้วย 1% ของพอร์ตโฟลิโอต่อการเทรด หรือด้วย Order ที่ใหญ่กว่าโดยมีจุด Stop-Lossเท่ากับ 1% ของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอ นักเทรดแบบรายวันมักใช้กฎการเทรด 1% แต่นักเทรดแบบ Swing ก็อาจนำมาใช้ได้เช่นกัน

แม้ว่า 1% จะเป็นกฎทั่วไป แต่นักเทรดบางรายจะปรับค่านี้ตามปัจจัยอื่นๆ เช่น ขนาดของบัญชีและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีบัญชีขนาดใหญ่และค่อนข้างระมัดระวังในการรับความเสี่ยงอาจเลือกจำกัดเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงต่อการเทรดให้น้อยลง

ใช้ Stop-Loss และ Take-Profit กับ Order

การใช้ Stop-Loss กับ Order จะช่วยให้นักเทรดจำกัดความสูญเสียเมื่อการเทรดเริ่มไม่ปกติ การ Take-Profit กับ Order จะรับรองว่า Order จะได้กำไรเมื่อการเทรดเป็นไปได้ดี ตามหลักการแล้ว ควรกำหนดราคา Stop-Loss และ Take-Profit ก่อนเข้าสู่ Position และควรกำหนด Order ทันทีที่เปิดการเทรด

การรู้ว่าเมื่อใดควรลดการสูญเสียถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่มีความผันผวนซึ่งราคาอาจร่วงอย่างรวดเร็ว การวางแผนกลยุทธ์การออกจากตลาดยังช่วยป้องกันการตัดสินใจผิดพลาดจากการเทรดตามอารมณ์ได้ด้วย ระดับ Stop-Loss และ Take-Profit เองก็มีความสำคัญต่อการคำนวณอัตราความเสี่ยง-Reward ของการเทรดแต่ละครั้ง

Hedging (การป้องกันความเสี่ยง)

Hedging (การป้องกันความเสี่ยง) เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่นักเทรดเดอร์และนักลงทุนใช้ลดความเสี่ยงทางการเงิน ประกอบด้วยการเปิด Position สองตำแหน่งที่ชดเชยกันและกัน พูดง่ายๆ ก็คือ นักเทรดจะป้องกันความเสี่ยงจากการเทรดด้วยการซื้อเทรดคู่ฝ่ายตรงข้ามที่มีขนาดใกล้เคียงกันหรือเทียบเท่ากัน 

อาจฟังดูขัดกับสัญชาตญาณที่ต้องเข้า Position ในทิศทางตรงกันข้าม แต่หากทำอย่างถูกต้อง การป้องกันความเสี่ยงจะช่วยลดผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของตลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการว่าคุณถือ BTC ไว้นานและถือเอาไว้ใน Wallet ส่วนตัว หากตลาดเข้าสู่ช่วงขาลง คุณสามารถใช้ Short Position เพื่อชดเชย Long Position ได้โดยไม่ต้องย้าย BTC นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่ากลยุทธ์ที่เป็นกลางทางตลาด 

หากคุณกำลังซื้อเทรด Futures คุณสามารถซื้อขายผ่าน Hedge Mode บน Binance Futures เพื่อถือ Position ทั้งในทิศทาง Long และ Shorting พร้อมกันภายใต้สัญญาเดียวกัน

Diversification (การกระจายการลงทุน)

ดังคำโบราณที่บอกไว้ว่า อย่าเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว กล่าวอีกนัยหนึ่ง คุณควรกระจายพอร์ตโฟลิโอ ตามทฤษฎี พอร์ตโฟลิโอที่มีความหลากหลายจะมีโอกาสป้องกันการขาดทุนจำนวนมากได้มากกว่าเมื่อเทียบกับพอร์ตโฟลิโอที่มีสินทรัพย์เพียงประเภทเดียว หากคุณถือสินทรัพย์คริปโตในพอร์ตโฟลิโอไว้อย่างหลากหลาย ความเสียหายสูงสุดที่คุณจะได้รับหากราคาร่วงลงคือพอร์ตโฟลิโอบางส่วนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม หากพอร์ตโฟลิโอของคุณประกอบด้วยสินทรัพย์ประเภทเดียว คุณอาจเสียพอร์ตโฟลิโอของคุณถึง 100% 

อัตราส่วนความเสี่ยง/ผลตอบแทน

อัตราส่วนความเสี่ยง/ผลตอบแทนจะคำนวณความเสี่ยงที่นักเทรดจะได้รับเทียบกับผลตอบแทนที่อาจได้รับ ในการคำนวณอัตราส่วนความเสี่ยง/ผลตอบแทนของการเทรดที่คุณกำลังพิจารณา ให้หารการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นด้วยผลกำไรที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น หากจุด Stop-Loss ของคุณอยู่ที่ 5% และเป้าหมายของคุณคือกำไร 15% อัตราส่วนความเสี่ยง/ผลตอบแทนจะเป็น 1:3 ซึ่งหมายความว่ากำไรที่อาจเกิดขึ้นจะสูงกว่าความเสี่ยงถึงสามเท่า

ข้อคิดส่งท้าย

ก่อนที่จะเปิด Position การเทรดหรือจัดสรรเงินทุนให้กับพอร์ตโฟลิโอ นักเทรดและนักลงทุนควรพิจารณาสร้างกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม คุณก็ต้องไม่ลืมว่าความเสี่ยงทางการเงินเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้อย่างสิ้นเชิง

โดยรวมแล้ว การจัดการความเสี่ยงก็คือการกำหนดวิธีรับมือกับความเสี่ยง แต่ไม่ใช่เพียงแค่การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอย่างสิ้นเชิงเท่านั้น แต่ยังเป็นการคิดในเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เราสามารถรับความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด 

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การบริการความเสี่ยงคือการระบุ การประเมิน และการติดตามความเสี่ยงตามบริบทและกลยุทธ์ กระบวนการจัดการความเสี่ยงมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินอัตราส่วนความเสี่ยง/ผลตอบแทนเพื่อที่เราจะได้ให้ความสำคัญกับ Position ที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด