กระเป๋าเงิน
ออเดอร์
ไทย
USD

Bitcoin คืออะไร ?

2023-10-27

Bitcoin คืออะไรและมีกลไกการทำงานอย่างไร

ข้อมูลโดยย่อ

  • Bitcoin คือคริปโทเคอร์เรนซีที่ทำงานบนฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่เรียกว่าบล็อกเชน

  • ธุรกรรมบน Network ของ Bitcoin จะถูกบันทึกไว้บนบัญชีแยกประเภทสาธารณะ และได้รับการยืนยันโดย Network ของโหนดที่มีอยู่ทั่วโลก

  • Bitcoin มีความโปร่งใสและ Permissionless (ไม่ต้องอาศัยการอนุญาต) จึงเป็นทางเลือกยอดนิยมนอกเหนือจากระบบการเงินแบบดั้งเดิม

Bitcoin คืออะไร

Bitcoin คือเงินในรูปแบบดิจิทัล แต่ต่างจากสกุลเงิน Fiat ที่ออกโดยรัฐบาลที่คุณคุ้นเคย เพราะไม่มีธนาคารกลางคอยควบคุม แต่ระบบการเงินใน Bitcoin จะดำเนินการโดยอาศัยคอมพิวเตอร์หลายพันเครื่องที่กระจายอยู่ทั่วโลก ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในระบบนิเวศได้โดยดาวน์โหลดซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สของ Bitcoin

Bitcoin คือคริปโทเคอร์เรนซีชนิดแรกที่มีการประกาศในปี 2008 (และเปิดตัวในปี 2009) โดยผู้ใช้สามารถส่งและรับเงินดิจิทัลที่เรียกว่า bitcoin (สะกดด้วยตัว b เล็ก หรือย่อว่า BTC) สิ่งที่ทำให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นคือคุณลักษณะที่ต้านทานการเซ็นเซอร์ ความเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้จ่ายเงินซ้ำซ้อน และความสามารถในการทำธุรกรรมได้ทุกที่ทุกเวลา

อะไรทำให้ Bitcoin มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

นี่คือคุณสมบัติสำคัญบางส่วนที่ทำให้ Bitcoin มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

1. การกระจายศูนย์ (Decentralization)

Bitcoin ทำงานบนบล็อกเชนสาธารณะแบบกระจายศูนย์ จึงไม่มีหน่วยงานกลางควบคุม แต่ธุรกรรมต่างๆ จะได้รับการยืนยันโดยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่าโหนด นอกจากนี้ ทุกคนสามารถเข้าร่วมเครือข่ายและช่วยรักษาความปลอดภัยได้

2. ไม่ต้องอาศัยการอนุญาต (Permissionless)

คุณลักษณะแบบไม่ต้องอาศัยการอนุญาตของ Bitcoin ทำให้ทุกคนที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้สามารถมีส่วนร่วมกับ Network ของ Bitcoin ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตหรือขออนุญาตจากหน่วยงานกลาง

Bitcoin ช่วยให้ผู้ใช้ส่งและรับเงินกับทุกคนบน Network ได้โดยไม่คำนึงถึงสถานที่หรือตัวตน นี่คือสาเหตุที่ทำให้ bitcoin ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในภูมิภาคที่ไม่มีระบบการเงินแบบดั้งเดิมหรือมีอย่างจำกัด

3. อุปทานที่มีอย่างจำกัด

Bitcoin มีอุปทานจำกัดที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งกำหนดอย่างถาวรในโปรโตคอล หมายความว่าจะไม่มี bitcoin หมุนเวียนเกิน 21 ล้านเหรียญ จึงช่วยป้องกันภาวะเงินเฟ้อ

4. ความโปร่งใส

ธุรกรรม bitcoin ทั้งหมดจะได้รับการบันทึกไว้ในบัญชีแยกประเภทสาธารณะที่ผู้ใช้ทุกคนมองเห็นได้ ดังนั้นทุกคนจะมองเห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงจำนวน Bitcoin ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจน Address ของผู้ส่งและผู้รับ

ในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ธนาคารและสถาบันการเงินอื่นๆ จะเป็นผู้บันทึกธุรกรรม และโดยทั่วไปจะไม่เปิดเผยข้อมูลนี้ต่อสาธารณะ ผู้ใช้บริการจะต้องเชื่อมั่นว่าสถาบันเหล่านี้จะเก็บข้อมูลอย่างถูกต้อง

5. การแบ่งเป็นหน่วยย่อย

Bitcoin สามารถแบ่งออกเป็นหน่วยย่อยที่เรียกว่า Satoshi ได้ ซึ่ง 100,000,000 Satoshi จะเท่ากับ 1 Bitcoin ดังนั้นแม้ Bitcoin จะมีราคาสูงมาก แต่ผู้คนก็จะยังสามารถใช้และทำธุรกรรมในจำนวนไม่มากได้อยู่ ทำให้ผู้ที่มีทรัพยากรทางการเงินอย่างจำกัดสามารถเข้าถึง Bitcoin ได้มากขึ้นและทำธุรกรรมจำนวนน้อยๆ ได้มากยิ่งขึ้น

Bitcoin มีกลไกการทำงานอย่างไร

เมื่อ Alice ทำธุรกรรมกับ Bob เธอไม่ได้ส่งเงินในแบบที่คุณคิด มันไม่เหมือนกับการให้ธนบัตรในรูปแบบดิจิทัล แต่เหมือนกับการเขียนลงบนแผ่นกระดาษ (ที่ทุกคนมองเห็นได้) ว่าเธอกำลังให้เงิน Bob เมื่อ Bob ส่งเงินจำนวนเดียวกันนี้ให้กับ Carol เธอก็จะเห็นจากแผ่นกระดาษได้ว่า Bob มีเงินจำนวนนี้อยู่

ตัวอย่างธุรกรรม btc

แผ่นกระดาษนี้คือฐานข้อมูลที่เรียกว่าบล็อกเชน ทุกคนที่เข้าร่วม Network จะมีสำเนาของแผ่นกระดาษที่เหมือนกันเก็บเอาไว้ในอุปกรณ์ โดยทุกคนจะเชื่อมต่อถึงกันเพื่อซิงโครไนซ์ข้อมูลใหม่

เพื่อรักษาความปลอดภัยและความสมบูรณ์ของบล็อกเชน Bitcoin จะใช้กลไก Consensus ที่เรียกว่า Proof-of-Work (PoW) เมื่อผู้ใช้จ่ายเงิน ก็จะเผยแพร่ข้อมูลธุรกรรมนั้นไปยัง Network ซึ่งจะได้รับการยืนยันโดยโหนดอื่นๆ หรือเรียกว่า "Miner" Miner จะแข่งกันแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน และต้องทุ่มพลังการประมวลผลในการคำนวณปัญหา Miner รายแรกที่แก้ปัญหาสำเร็จจะเพิ่มบล็อกใหม่ของธุรกรรมเข้าในบล็อกเชน

ผู้ที่เสนอบล็อกที่ถูกต้องจะได้รับแรงวัลเป็นแรงจูงใจ รางวัลนี้มักเรียกว่า Block Reward ประกอบด้วยสององค์ประกอบ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากธุรกรรมภายในบล็อกและเงินอุดหนุนบล็อก ค่าธรรมเนียมของบล็อกจะเป็นแหล่งที่มาเพียงอย่างเดียวของ Bitcoin "สด" เมื่อทำการขุดแต่ละบล็อก เหรียญจำนวนหนึ่งก็จะถูกเพิ่มไปยังอุปทานทั้งหมด

กลไก Consensus PoW ของ Bitcoin ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้การสร้างบล็อกมีราคาสูง แต่ยืนยันว่าถูกต้องได้ในราคาที่แสนต่ำ สมมติว่ามีคนพยายามโกงโดยใช้บล็อกที่ไม่ถูกต้อง ในกรณีนี้ Network จะปฏิเสธบล็อกนั้นทันที และ Miner จะไม่สามารถเรียกคืนต้นทุน Mining ได้

Bitcoin ใช้กับอะไรบ้าง

Bitcoin ใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัลและเพื่อจัดเก็บมูลค่าเป็นหลัก สามารถใช้ซื้อสินค้าทางออนไลน์หรือในร้านจริงได้ เช่นเดียวกับสกุลเงินดั้งเดิม ผู้ที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะสามารถส่งและรับ Bitcoin ได้ และการที่เป็นสกุลเงินดิจิทัลก็หมายความว่าสามารถโอนไปได้ทั่วโลก

บางครั้ง Bitcoin จะใช้เพื่อทำธุรกรรมที่เป็นส่วนตัวยิ่งขึ้น โดยธุรกรรมจะแสดงเป็นข้อมูลสาธารณะ และ Address (คีย์สาธารณะ) จะแสดงเป็นนามแฝงแม้ว่าจะไม่ได้ปกปิดตัวตนอย่างสมบูรณ์ก็ตาม กล่าวคือ แม้ว่าธุรกรรมจะแสดงอยู่บนบล็อกเชน แต่จะไม่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้ที่อยู่เบื้องหลังธุรกรรมนั้นได้โดยง่าย

บางคนอาจซื้อ Bitcoin เป็นการลงทุนระยะยาว โดยคาดหวังว่ามูลค่าจะเพิ่มขึ้นไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับทองคำหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อุปทานที่มีอย่างจำกัดของ Bitcoin และคุณลักษณะแบบกระจายศูนย์ทำให้ Bitcoin เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายพอร์ตการลงทุน

ประวัติของ Bitcoin

Bitcoin เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2008 เมื่อ Satoshi Nakamoto เผยแพร่เอกสาร White Paper ที่ชื่อ "Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System" เอกสาร White Paper นี้แนะนำสกุลเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ทำงานบนระบบแบบกระจายศูนย์โดยไม่พึ่งพารัฐบาลหรือระบบธนาคาร

ในเดือนมกราคม 2009 โปรโตคอล Bitcoin ได้ถูกเผยแพร่ และธุรกรรม Bitcoin ครั้งแรกก็เกิดขึ้นระหว่าง Satoshi Nakamoto และโปรแกรมเมอร์ชื่อ Hal Finney โดยในธุรกรรมนี้ Nakamoto ได้ส่ง Bitcoin 10 หน่วยไปให้ Finney

หลังจากธุรกรรมแรกนั้น ผู้คนก็เริ่มค้นพบ Bitcoin และเข้าร่วม Network กันมากขึ้น สกุลเงินดิจิทัลใหม่นี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้ชื่นชอบเทคโนโลยีกลุ่มเล็กๆ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า Bitcoin นั้นสามารถใช้ได้จริงโดยไม่ต้องมีหน่วยงานกลางหรือคนกลาง

Bitcoin Pizza คืออีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของ Bitcoin เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ Bitcoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนธุรกรรมในชีวิตจริง โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2010 โปรแกรมเมอร์ที่ชื่อว่า Laszlo Hanyecz ได้สร้างประวัติศาสตร์โดยการใช้ 10,000 Bitcoin เพื่อซื้อพิซซ่าสองถาด ธุรกรรมนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อ "Bitcoin Pizza Day" และปัจจุบันมีการเฉลิมฉลองทุกปีในวันที่ 22 พฤษภาคม

ใครเป็นผู้สร้าง Bitcoin

ตัวตนของ Satoshi Nakamoto นั้นยังคงเป็นปริศนา Satoshi อาจเป็นบุคคลหรือกลุ่มนักพัฒนาจากที่ใดก็ได้บนโลก แม้จะมีชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่ความคล่องแคล่วในการใช้ภาษาอังกฤษของ Satoshi ทำให้หลายคนเชื่อว่าบุคคลนี้น่าจะมาจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ

Satoshi เป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีบล็อกเชนใช่ไหรือไม่

Bitcoin ใช้เทคโนโลยีหลายๆ เทคโนโลยีที่มีมานานแล้วผสมผสานกัน หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีบล็อกเชน การใช้โครงสร้างข้อมูลที่มีความถาวรเช่นนี้อาจสืบย้อนกลับไปได้ถึงช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อ Stuart Haber และ W. Scott Stornetta เสนอให้ใช้ระบบการประทับเวลาเอกสาร ซึ่งเหมือนกับบล็อกเชนในปัจจุบันที่อาศัยเทคโนโลยีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและป้องกันการดัดแปลง

มี Bitcoin อยู่เป็นจำนวนเท่าไร

โปรโตคอลกำหนดปริมาณ Bitcoin สูงสุดเอาไว้ที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งจวบจนถึงปี 2023 มีการขุดไปแล้วมากกว่า 90% แต่ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่าร้อยปีเพื่อสร้างเหรียญในส่วนที่เหลือ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะซึ่งเรียกว่า Halving ที่จะค่อยๆ ลด Mining Reward ลง

Bitcoin Halving คืออะไร

Halving ของ Bitcoin คือกระบวนการลดอัตราการสร้างบล็อก Bitcoin ใหม่ขึ้น ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ Halving (ลดลงครึ่งหนึ่ง) เป็นระยะเพื่อลด Block Reward ที่จะมอบให้แก่ Miner มีการคาดว่าเหตุการณ์ Bitcoin Halving ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในปี 2024 ประมาณสี่ปีหลังจาก Halving ครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2020

Bitcoin Halving คือหัวใจของโมเดลเศรษฐกิจ และช่วยรับรองว่าระบบจะออกเหรียญในจังหวะที่สม่ำเสมอ และเพิ่มความยากขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราที่คาดการณ์ได้ อัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ดังกล่าวคือหนึ่งในความแตกต่างที่สำคัญระหว่างคริปโทเคอร์เรนซีและสกุลเงิน Fiat ดั้งเดิม ซึ่งมีอุปทานไม่สิ้นสุด

Bitcoin ปลอดภัยหรือไม่

หนึ่งในความเสี่ยงหลักที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin คือโอกาสในการถูกแฮกหรือโจรกรรม ยกตัวอย่างเช่น ในการหลอกลวงแบบฟิชชิง แฮกเกอร์จะใช้เทคนิควิศวกรรมทางสังคมเพื่อหลอกให้ผู้ใช้เปิดเผยข้อมูลประจำตัวหรือคีย์ส่วนตัวที่ใช้เข้าสู่ระบบ เมื่อแฮกเกอร์เข้าถึงบัญชีของผู้ใช้หรือ Wallet สำหรับคริปโตได้ ก็จะสามารถโอน Bitcoin ของเหยื่อไปที่ Wallet ของตนเองได้

อีกวิธีหนึ่งที่แฮกเกอร์ใช้ขโมย Bitcoin คือการโจมตีโดยใช้มัลแวร์หรือแรนซัมแวร์ แฮกเกอร์สามารถทำให้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์มือถือของผู้ใช้ติดมัลแวร์ ซึ่งจะทำให้เข้าถึง Wallet สำหรับ Bitcoin ของผู้ใช้ได้ ในบางกรณี แฮกเกอร์ยังอาจใช้แรนซัมแวร์เพื่อเข้ารหัสไฟล์ของผู้ใช้และเรียกร้องให้จ่ายเงินเป็น Bitcoin เพื่อปลดล็อกไฟล์เหล่านั้น

เนื่องจากธุรกรรม Bitcoin ไม่สามารถดำเนินการย้อนกลับได้และไม่ได้รับการประกันโดยหน่วยงานรัฐบาล ผู้ใช้จึงต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อปกป้องการถือครอง Bitcoin ของตนเอง ซึ่งรวมถึงการใช้รหัสผ่านที่รัดกุม การตรวจสอบสิทธิ์แบบสองปัจจัย และการจัดเก็บ Bitcoin ไว้ใน Wallet สำหรับคริปโต ที่ปลอดภัยซึ่งแฮกเกอร์ไม่สามารถเข้าถึงได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือต้องดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin จากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น

ความเสี่ยงอีกประการที่มากับ Bitcoin ก็คือความผันผวนของราคา มูลค่าของ Bitcoin อาจผันผวนได้สูงในช่วงเวลาสั้นๆ จึงเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่อผู้ที่ไม่พร้อมสำหรับการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

ข้อคิดส่งท้าย

Bitcoin คือสกุลเงินดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างขึ้นเป็นทางเลือกแทนระบบการเงินแบบดั้งเดิม และดำเนินการบนเครือข่ายแบบ Peer-to-Peer (P2P) ผู้ใช้จึงสามารถส่งและรับเงินได้โดยไม่ต้องมีคนกลาง

แม้ว่า Bitcoin จะยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่อยู่ แต่ก็ได้ปฏิวัติมุมมองของเราในเรื่องเงินไปแล้ว ในขณะที่ Bitcoin และคริปโทเคอร์เรนซีอื่นๆ มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็ต้องคอยจับตาดูกันว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราหรือไม่