กระเป๋าเงิน
ออเดอร์
ไทย
USD

บล็อกเชนคืออะไรและมีกลไกการทำงานอย่างไร

2024-02-01

ข้อมูลโดยย่อ

  • บล็อกเชนเป็นบัญชีแยกประเภทดิจิทัลแบบกระจายอำนาจที่บันทึกข้อมูลธุรกรรมอย่างปลอดภัยบนคอมพิวเตอร์เฉพาะทางจำนวนมากบน Network

  • บล็อกเชนรับรองความสมบูรณ์ของข้อมูลด้วยคุณลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ผ่านการเข้ารหัสและกลไก Consensus ซึ่งหมายความว่าเมื่อบันทึกข้อมูลแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงย้อนกลับได้

  • บล็อกเชนเป็นแกนหลักของคริปโทเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin และ Ethereum และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใส ความปลอดภัย และความไว้วางใจในภาคส่วนต่างๆ นอกเหนือจากภาคการเงิน 

บล็อกเชนคืออะไร

บล็อกเชนคือฐานข้อมูลชนิดพิเศษ หรือที่เรียกว่าบัญชีแยกประเภทดิจิทัลแบบกระจายอำนาจซึ่งดูแลโดยคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วโลก ข้อมูลบล็อกเชนจะจัดระเบียบเป็นบล็อกตามลำดับเวลาและรักษาความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัส

บล็อกเชนรุ่นแรกสุดสร้างขึ้นในต้นปี 1990 เมื่อนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ Stuart Haber และนักฟิสิกส์ W. Scott Stornetta ใช้เทคนิคการเข้ารหัสในบล็อกเชนเพื่อรักษาความปลอดภัยจากการดัดแปลงข้อมูลให้กับเอกสารดิจิทัล

Haber และ Stornetta เป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานของนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และผู้ที่ชื่นชอบการเข้ารหัสมากมาย ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การสร้างคริปโทเคอร์เรนซีตัวแรกที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน Bitcoin ตั้งแต่นั้นมา การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ก็ค่อยๆ กว้างขวางขึ้น และผู้คนทั่วโลกก็หันมาใช้คริปโทเคอร์เรนซีมากขึ้น

แม้ว่าส่วนใหญ่จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อบันทึกธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซี แต่ก็เหมาะสำหรับใช้บันทึกข้อมูลดิจิทัลประเภทอื่นๆ อีกมากมาย และสามารถนำไปใช้กับหลากหลายกรณีการใช้งานได้ด้วย

การกระจายอำนาจ (Decentralization) ในบล็อกเชนคืออะไร

การกระจายอำนาจในบล็อกเชนคือแนวคิดที่ว่าอำนาจการควบคุมและการตัดสินใจของ Network นั้นถูกกระจายให้กับผู้ใช้ แทนที่จะควบคุมโดยหน่วยงานเดียว เช่น รัฐบาลหรือองค์กร ซึ่งมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่ผู้คนจำเป็นต้องประสานงานกับคนแปลกหน้า หรือในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการความมั่นใจว่าข้อมูลของตนเองมีความปลอดภัยและสมบูรณ์

ใน Network บล็อกเชนแบบกระจายอำนาจ ไม่มีหน่วยงานกลางหรือตัวกลางที่ควบคุมการไหลของข้อมูลหรือธุรกรรม แต่ธุรกรรมจะได้รับการตรวจสอบและบันทึกโดย Distributed Network ของคอมพิวเตอร์ที่ทำงานร่วมกันเพื่อรักษาความสมบูรณ์ของ Network

เมื่อผู้คนพูดถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน มักจะหมายความมากกว่าเพียงแค่ฐานข้อมูลอย่างเดียว เทคโนโลยีบล็อกเชนขับเคลื่อนแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น คริปโทเคอร์เรนซีและ Non-fungible Token (NFT) จึงช่วยให้ผู้คนสามารถทำงานร่วมกันและทำธุรกรรมระหว่างกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานกลาง

บล็อกเชนมีกลไกการทำงานอย่างไร

หัวใจหลักของบล็อกเชนคือบัญชีแยกประเภทดิจิทัลที่บันทึกธุรกรรมระหว่างสองฝ่ายอย่างปลอดภัยในลักษณะป้องกันการดัดแปลง ข้อมูลธุรกรรมเหล่านี้จะได้รับการบันทึกโดย Distributed Network ของคอมพิวเตอร์พิเศษที่เรียกว่า Node ที่มีอยู่ทั่วโลก

เมื่อผู้ใช้เริ่มต้นการทำธุรกรรม เช่น การส่งคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนหนึ่งให้แก่ผู้ใช้รายอื่น ธุรกรรมนั้นจะเผยแพร่ไปยัง Network แต่ละ Node จะตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมโดยการยืนยันลายเซ็นดิจิทัลและข้อมูลธุรกรรมอื่นๆ

เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยันแล้ว ก็จะเพิ่มธุรกรรมดังกล่าวลงในบล็อกพร้อมกับธุรกรรมอื่นๆ ที่ยืนยันแล้ว บล็อกจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีการเข้ารหัส จนเกิดเป็นบล็อกเชน กระบวนการยืนยันธุรกรรมและเพิ่มลงในบล็อกเชนจะทำผ่านกลไก Consensus ซึ่งเป็นชุดของกฎที่กำกับควบคุมว่า Node บน Network จะบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับสถานะของบล็อกเชนและความถูกต้องของธุรกรรมอย่างไร

การเข้ารหัสเป็นกุญแจสำคัญสำหรับบล็อกเชนเพื่อรักษาบันทึกธุรกรรมที่ปลอดภัย โปร่งใส และป้องกันการดัดแปลง ยกตัวอย่างเช่น การแฮชเป็นวิธีการเข้ารหัสสำคัญที่ใช้ในบล็อกเชน เป็นกระบวนการเข้ารหัสที่แปลงอินพุตทุกขนาดให้เป็นสตริงอักขระที่มีขนาดเดียว

ฟังก์ชันแฮชที่ใช้ในบล็อกเชนโดยทั่วไปจะต้านทานการชนกัน หมายความว่าโอกาสในการค้นหาข้อมูลสองรายการที่สร้างผลลัพธ์แบบเดียวกันจะเกิดขึ้นน้อยมาก คุณลักษณะอีกประการหนึ่งเรียกว่าเอฟเฟกต์หิมะถล่ม ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์ที่การเปลี่ยนแปลงข้อมูลอินพุตเพียงเล็กน้อยจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างมาก 

เราจะอธิบายด้วย SHA256 ซึ่งเป็นฟังก์ชันที่ใช้ใน Bitcoin อย่างที่คุณเห็น การเปลี่ยนตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่จะให้ผลลัพธ์แตกต่างอย่างมาก ฟังก์ชันแฮชก็เป็นฟังก์ชันทางเดียวเช่นกัน เพราะในทางการคำนวณ เป็นไปไม่ได้ที่จะหาข้อมูลอินพุตจากวิศวกรรมย้อนกลับเอาต์พุตของแฮช 

ข้อมูลอินพุต

เอาต์พุต SHA256

Binance TH Academy

886c5fd21b403a139d24f2ea1554ff5c0df42d5f873a56d04dc480808c155af3

Binance TH Academy

4733a0602ade574551bf6d977d94e091d571dc2fcfd8e39767d38301d2c459a7

Binance TH Academy

a780cd8a625deb767e999c6bec34bc86e883acc3cf8b7971138f5b25682ab181

แต่ละบล็อกภายในบล็อกเชนจะมีแฮชของบล็อกก่อนหน้าที่รักษาอย่างปลอดภัย ทำให้เกิดห่วงโซ่ของบล็อกที่แข็งแกร่ง บุคคลที่ต้องการแก้ไขหนึ่งบล็อกจะต้องแก้ไขบล็อกที่ตามมาทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงงานยากทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย 

วิธีการเข้ารหัสอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบล็อกเชนคือการเข้ารหัส Public Key เรียกอีกอย่างว่าการเข้ารหัสแบบอสมมาตร ซึ่งช่วยสร้างธุรกรรมที่ปลอดภัยและยืนยันได้ระหว่างผู้ใช้

นี่คือกลไกการทำงาน ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะมีคีย์ที่ไม่ซ้ำกัน ได้แก่ Private Key ที่เก็บเป็นความลับ และ Public Key ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะ เมื่อผู้ใช้เริ่มต้นธุรกรรม ผู้ใช้จะลงชื่อโดยใช้ Private Key เพื่อสร้างลายเซ็นดิจิทัล

ผู้ใช้รายอื่นใน Network สามารถยืนยันความถูกต้องของธุรกรรมได้โดยใช้ Private Key ของผู้ส่งกับลายเซ็นดิจิทัล วิธีการนี้ช่วยรับรองการทำธุรกรรมที่ปลอดภัยเนื่องจากมีเพียงเจ้าของ Private Key ที่ถูกต้องเท่านั้นที่สามารถอนุมัติธุรกรรมได้ แต่ทุกคนจะสามารถยืนยันลายเซ็นโดยใช้ Public Key 

คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของบล็อกเชนคือความโปร่งใส โดยทั่วไป ทุกคนสามารถตรวจสอบข้อมูลของบล็อกเชนรวมถึงข้อมูลธุรกรรมและข้อมูลบล็อกทั้งหมดได้จากเว็บไซต์สาธารณะของบล็อกเชน  ตัวอย่างเช่น คุณสามารถดูทุกธุรกรรมที่เคยบันทึกไว้ใน Network ของ Bitcoin บนไซต์ Blockchain Explorer รวมถึงตัวระบุผู้ส่งและผู้รับ จำนวนเงินที่โอน และรายชื่อเจ้าของ Bitcoin และยังสามารถติดตามบล็อกได้ตั้งแต่วันนี้ (ที่บล็อก 788,995 ณ เวลา 18:52:21 GMT ของวันที่ 29 พฤษภาคม 2023) ย้อนกลับไปจนถึงบล็อกแรกหรือที่เรียกว่าบล็อกกำเนิด

กลไก Consensus คืออะไร

อัลกอริทึม Consensus เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ใช้หรือคอมพิวเตอร์ประสานงานร่วมกันในลักษณะกระจาย โดยต้องมั่นใจว่าตัวแทนทั้งหมดในระบบจะเห็นพ้องต้องกันกับความจริงเพียงแหล่งเดียว แม้ว่าตัวแทนบางรายจะไม่เห็นพ้องก็ตาม ซึ่งจะต้องรับรองว่า Node ทั้งหมดใน Network มีสำเนาบัญชีแยกประเภทเหมือนกัน ซึ่งประกอบด้วยบันทึกธุรกรรมทั้งหมด กลไก Consensus เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบล็อกเชนเนื่องจากไม่มีหน่วยงานกลางในการตรวจสอบธุรกรรมและรักษาความสมบูรณ์ของ Network

เมื่อ Node นับหมื่นเก็บสำเนาข้อมูลของบล็อกเชน อาจเกิดความท้าทายบางอย่างได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงความสอดคล้องของข้อมูลและ Node ที่เป็นอันตราย เพื่อรับรองความมั่นใจถึงความสมบูรณ์ของบล็อกเชน มีกลไก Consensus หลายรูปแบบที่ควบคุมวิธีที่ Node ใน Network จะบรรลุข้อตกลงร่วมกัน ลองมาดูกลไกที่สำคัญกันดีกว่า

ประเภทของกลไก Consensus

Proof-of-Work (PoW) คืออะไร

Proof-of-Work (PoW) เป็นกลไก Consensus ที่ใช้ใน Network บล็อกเชนมากมายเพื่อตรวจสอบธุรกรรมและรักษาความสมบูรณ์ของบล็อกเชน นับเป็นกลไก Consensus ดั้งเดิมที่ Bitcoin ใช้

ใน PoW บรรดา Miner จะแข่งกันเพื่อแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มบล็อกถัดไปให้กับบล็อกเชน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า Mining (การขุด) Miner คนแรกที่แก้ปัญหาได้ จะได้รับ Reward เป็นคริปโทเคอร์เรนซี 

Miner ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์เพื่อขุดเหรียญใหม่และรักษาความปลอดภัยให้ Network นี่คือเหตุผลว่าทำไมกระบวนการขุดจึงต้องใช้พลังคำนวณสูงมาก และด้วยเหตุนี้จึงต้องใช้พลังงานมากตามไปด้วย 

Proof of Stake (PoS) คืออะไร

Proof of Stake (PoS) เป็นกลไก Consensus ที่ออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องบางประการของ Proof-of-Work (PoW) ในระบบ PoS แทนที่ Miner จะแย่งกันแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมและเพิ่มบล็อกใหม่ให้กับบล็อกเชน Validator จะได้รับเลือกตามจำนวนคริปโทเคอร์เรนซีที่ "Stake" ใน Network

Validator จะถือครองคริปโทเคอร์เรนซีจำนวนหนึ่งเป็นหลักประกันหรือ "Stake" เพื่อเข้าร่วมในกระบวนการ Consensus จากนั้นจึงสุ่มเลือก Validator เพื่อสร้างบล็อกใหม่และตรวจสอบธุรกรรมตามขนาดที่ Stake Validator จะได้รับ Reward เป็นค่าธรรมเนียมธุรกรรมจากการสร้างบล็อกใหม่และเป็นสิ่งจูงใจให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของ Network

กลไก Consensus อื่นๆ ที่เป็นที่นิยม

Proof-of-Work (PoW) และ Proof of Stake (PoS) เป็นอัลกอริทึมที่ใช้กันทั่วไป แต่ก็มีอัลกอริทึมอื่นๆ ด้วย บางส่วนเป็นลูกผสมที่รวมองค์ประกอบจากทั้งสองระบบ ในขณะที่บางรูปแบบก็มีวิธีการที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ยกตัวอย่างเช่น Delegated Proof of Stake (DPoS) ที่คล้ายกับ PoS แต่แทนที่จะให้ Validator ที่มีสิทธิ์ทั้งหมดสร้างบล็อกใหม่ ผู้ถือครองโทเค็นจะเลือก Delegate ชุดเล็กๆ ให้ดำเนินการดังกล่าวในนามตนเอง

ในทางกลับกัน ใน Proof of Authority (PoA) จะต้องระบุ Validator ด้วยชื่อเสียงหรือตัวตน แทนที่จะใช้จำนวนคริปโทเคอร์เรนซีที่ถือครอง โดยจะเลือกValidator ตามความน่าเชื่อถือ และสามารถลบออกจาก Network ได้หากมีพฤติกรรมเป็นอันตราย

ข้อดีของบล็อกเชน

1. การกระจายศูนย์ (Decentralization)

ลักษณะการกระจายอำนาจของบล็อกเชนทำให้ไม่ต้องมีจุดควบคุมหรือความล้มเหลวเพียงจุดเดียว ซึ่งทำให้มีความปลอดภัยและทนทานต่อการโจมตีหรือการละเมิดข้อมูลมากกว่า

2. ความโปร่งใส

ธุรกรรมบนบล็อกเชนจะปรากฏให้ผู้เข้าร่วมทุกคนเห็น จึงง่ายต่อการติดตามและยืนยันธุรกรรมและรับรองความถูกต้อง

3. ความคงทนถาวร

เมื่อบันทึกธุรกรรมบนบล็อกเชนแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลบได้ เพราะจะเป็นการสร้างบันทึกถาวรของธุรกรรมทั้งหมดที่คนที่สามารถเข้าถึง Network บล็อกเชนได้สามารถตรวจสอบได้ นี่คือความแตกต่างที่สำคัญจากระบบดั้งเดิมซึ่งธุรกรรมสามารถย้อนกลับได้

4. ประสิทธิภาพ

บล็อกเชนช่วยให้การทำธุรกรรมรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องใช้ตัวกลาง เช่น ธนาคาร

5. ค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า

เมื่อขจัดตัวกลางและปรับกระบวนการให้เป็นอัตโนมัติ บล็อกเชนก็สามารถลดต้นทุนธุรกรรมและเสริมประสิทธิภาพให้การดำเนินธุรกิจบางอย่างได้

6. Trustless (ไม่ต้องมีคนกลาง)

เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยให้ธุรกรรมโปร่งใส มีการยืนยัน และตรวจสอบโดยผู้เข้าร่วม Network เองโดยไม่ต้องมีคนกลางที่เชื่อถือได้

บล็อกเชน มี Network ประเภทใดบ้าง

Public Blockchain (บล็อกเชนสาธารณะ)

Public Blockchain เป็น Decentralized Network (เครือข่ายกระจายอำนาจ) ที่เปิดให้ทุกคนเข้าร่วมได้ โดยทั่วไป Network เหล่านี้เป็นโอเพ่นซอร์ส โปร่งใส และไม่ต้องอาศัยการอนุญาต (Permissionless) ซึ่งหมายความว่าทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ Bitcoin และ Ethereum เป็นตัวอย่างของ Public Blockchain

Private Blockchain (บล็อกเชนส่วนตัว)

Private Blockchain คือ Network บล็อกเชนที่ไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงตามชื่อ โดยทั่วไปแล้ว Private Blockchain จะดำเนินการโดยหน่วยงานเดียว เช่น บริษัท และใช้เพื่อวัตถุประสงค์และกรณีการใช้งานภายใน

Private Blockchain เป็นสภาพแวดล้อมแบบอาศัยการอนุญาต (Permissioned) พร้อมกฎ ซึ่งกำหนดบุคคลที่สามารถดูและเขียนลงในเชนได้ ซึ่งไม่ใช่ระบบกระจายอำนาจเนื่องจากมีลำดับชั้นการควบคุมที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม อาจเป็นระบบที่กระจายไปยัง Node จำนวนมากเพื่อรักษาสำเนาของเชนบนเครื่องได้

Consortium Blockchain

Consortium Blockchain เป็นลูกผสมระหว่าง Public Blockchain และ Private Blockchain สำหรับ Consortium Blockchain หลายองค์กรจะร่วมกันสร้าง Network บล็อกเชนที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งมีการจัดการและควบคุมร่วมกัน Network เหล่านี้อาจเป็น Network แบบเปิดหรือปิดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการของสมาชิก

แทนที่จะเป็นระบบเปิดที่ทุกคนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของบล็อกได้ หรือเป็นระบบปิดที่กำหนดหน่วยงานเดียวให้เป็นผู้สร้างบล็อก Consortium Chain จะกำหนดให้กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจเท่าเทียมกันจำนวนหนึ่งทำหน้าที่เป็น Validator 

กฎของระบบมีความยืดหยุ่น อาทิ การจำกัดการมองเห็นเชนไว้เฉพาะ Validator, มองเห็นได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับอนุญาต หรือทุกคนสามารถมองเห็นได้ หาก Validator สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็สามารถดำเนินการได้ง่าย สำหรับกลไกการทำงานของบล็อกเชน หากเกณฑ์ที่กำหนดของกลุ่มบุคคลเป็นไปอย่างซื่อสัตย์ ระบบจะไม่เกิดปัญหา

บล็อกเชนใช้กับอะไรได้บ้าง

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีการใช้งานในอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายแล้ว แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในปัจจุบัน ได้แก่

1. คริปโทเคอร์เรนซี

เทคโนโลยีบล็อกเชนได้รับการพัฒนาให้รองรับการสร้างคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งใช้บล็อกเชนเป็นบัญชีแยกประเภทที่ปลอดภัยและกระจายอำนาจสำหรับบันทึกธุรกรรม

2. ข้อมูลระบุตัวตนแบบดิจิทัล

บล็อกเชนสามารถใช้สร้างข้อมูลระบุตัวตนแบบดิจิทัลที่ปลอดภัยและป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งสามารถใช้ตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่ละเอียดอ่อนอื่นๆ ได้ ความสามารถนี้อาจมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีการย้ายข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินของเราทางออนไลน์มากขึ้น

3. การลงคะแนนเสียง

เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างระบบการลงคะแนนเสียงที่ปลอดภัยและโปร่งใส โดยการลงคะแนนเสียงด้วยบัญชีแยกประเภทแบบกระจายอำนาจและป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งช่วยลดการทุจริตของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และรับประกันความสมบูรณ์ของกระบวนการลงคะแนน

4. การบริหารห่วงโซ่อุปทาน

เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถใช้สร้างบัญชีแยกประเภทของธุรกรรมทั้งหมดภายในห่วงโซ่อุปทานได้ โดยธุรกรรมแต่ละรายการสามารถบันทึกเป็นบล็อกบนบล็อกเชนเพื่อสร้างบันทึกกระบวนการห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและมีความโปร่งใส

5. Smart Contract

Smart Contract คือสัญญาที่ดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งสามารถตั้งโปรแกรมให้ดำเนินการโดยอัตโนมัติเมื่อตรงตามเงื่อนไขบางประการ เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยในการสร้างและใช้งาน Smart Contract ได้อย่างปลอดภัยและกระจายอำนาจ หนึ่งในแอปพลิเคชันที่ใช้ Smart Contract ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Decentralized Application (dApp) และ Decentralized Organization (DAO)

ข้อคิดส่งท้าย

เทคโนโลยีบล็อกเชนคือวิธีที่ปลอดภัยและโปร่งใสในการบันทึกธุรกรรมและจัดเก็บข้อมูล เป็นเทคโนโลยีที่จะมาปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยยกระดับความไว้วางใจและความปลอดภัยมาสู่โลกดิจิทัล

ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer (P2P), การสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ หรือการอำนวยความสะดวกให้กับ Decentralized Application เทคโนโลยีบล็อกเชนช่วยเปิดโลกแห่งความเป็นไปได้ เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและมีการนำไปใช้กันในวงกว้าง เราจึงคาดหวังได้ว่าในปีถัดๆ ไป จะมีกรณีการใช้งานใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมากขึ้น