อนุพันธ์ (Derivatives) คืออะไร?

อนุพันธ์ (Derivatives) คือสัญญาทางการเงินที่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง เช่น หุ้น สกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) เงินตราทั่วไป (fiat currency) หรือสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ให้นึกถึงอนุพันธ์ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายซึ่งอ้างอิงจากราคาหรือมูลค่าในอนาคตของสินทรัพย์นั้น
อนุพันธ์มีหลายประเภท เช่น ออปชัน (options), ฟิวเจอร์ส (futures) และสวอป (swaps) อย่างไรก็ตาม พวกมันมีหลักการพื้นฐานร่วมกัน คือเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในอนาคตโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั้นจริงๆ
อนุพันธ์สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยง (hedge) ที่อาจเกิดขึ้น โดยเปิดสถานะในอนุพันธ์ที่เป็นทิศทางตรงข้ามกับการลงทุนเดิม เพื่อชดเชยความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และ สามารถเพิ่มผลตอบแทนได้ผ่านการใช้เลเวอเรจ (leverage) ตัวอย่างเช่น เทรดเดอร์สามารถใช้เงินทุนจำนวนเล็กน้อยในการซื้อสัญญาฟิวเจอร์สซึ่งควบคุมสินทรัพย์อ้างอิงในปริมาณที่มากกว่าได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ อนุพันธ์มีความซับซ้อน และการใช้เลเวอเรจอาจทำให้ขาดทุนรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุนในอนุพันธ์
อนุพันธ์แบบกระจายศูนย์ในโลกคริปโตคืออะไร?
อนุพันธ์แบบกระจายศูนย์ (Decentralized Derivatives) ก็เหมือนกับอนุพันธ์ทั่วไปที่มีมูลค่าอิงจากสินทรัพย์อ้างอิง แต่จะถูกซื้อขายบนโปรโตคอลที่ทำงานบนบล็อกเชน (blockchain-based protocols) แทนแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์ (centralized)
แม้ว่าอนุพันธ์ที่เกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นประเภทที่พบมากที่สุดในระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) แต่ก็สามารถสร้างอนุพันธ์ที่อิงกับสินทรัพย์ประเภทอื่นได้เช่นกัน เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์
สัญญาอนุพันธ์ในโลกคริปโตเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในอนาคต หรือป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ ในสภาพแวดล้อมที่โปร่งใสและไม่ต้องพึ่งพาความไว้วางใจ (trustless) โดยอนุพันธ์แบบกระจายศูนย์อนุญาตให้ผู้ใช้งาน ควบคุมสินทรัพย์และคีย์ส่วนตัวของตนเองได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องโอนทรัพย์สินเหล่านี้ไปยังแพลตฟอร์มแบบรวมศูนย์หรือผู้ดูแลทรัพย์สินของบุคคลที่สาม
ซึ่งหมายความว่าผู้ใช้สามารถเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของตนไปยังโปรโตคอลต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วตามกลยุทธ์ในโลก DeFi โดยไม่ต้องเสียเวลารอการถอนเงินเป็นเวลานาน
องค์ประกอบสำคัญของ Derivative DEXs คืออะไร?
Derivative DEXs (กระดานซื้อขายอนุพันธ์แบบกระจายศูนย์) ดำเนินการบนระบบบล็อกเชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง บล็อกเชนทำหน้าที่เป็นบัญชีแยกประเภทที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้และป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งจะบันทึกการทำธุรกรรมและการดำเนินสัญญาทั้งหมดอย่างกระจายศูนย์ หมายความว่าเมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยันและเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชนแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือถูกลบได้ มีองค์ประกอบสำคัญเช่น
บล็อกเชนที่ใช้
โปรโตคอลอนุพันธ์แบบกระจายศูนย์สามารถถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชนต่างๆ ได้ เช่น Ethereum, BNB Chain, Solana หรือ Layer 2 ต่างๆ อย่างไรก็ตาม บล็อกเชนแต่ละประเภทมีความแตกต่างในเรื่อง ความปลอดภัย, ความสามารถในการขยายตัว (scalability) และ ค่าธรรมเนียมธุรกรรม ซึ่งส่งผลต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งานและประสิทธิภาพของโปรโตคอลโดยรวม
สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contracts)
เทคโนโลยีสำคัญอีกอย่างคือสัญญาอัจฉริยะ ซึ่งช่วยให้สามารถดำเนินธุรกรรม โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง สัญญาเหล่านี้มีเงื่อนไขที่เขียนไว้ในโค้ด และจะดำเนินการหรือชำระบัญชีโดยอัตโนมัติเมื่อตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
Oracle สำหรับดึงข้อมูลจากโลกจริง
โปรโตคอลเหล่านี้มักพึ่งพา oracle ซึ่งเป็นกลไกในการดึงราคาหรือข้อมูลจากโลกจริง เช่น ราคาของ ETH หรือ BTC อย่างแม่นยำ Oracle แต่ละตัวมีความแตกต่างในด้านระดับการกระจายศูนย์, ความแม่นยำของข้อมูล, และความถี่ในการอัปเดต ซึ่งล้วนส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์ม
การกำกับดูแลแบบกระจายศูนย์
หลายโปรโตคอลมีรูปแบบการกำกับดูแลแบบกระจายศูนย์ (decentralized governance) ที่ให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อให้ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งสามารถควบคุมแพลตฟอร์มได้ เช่น โหวตเพื่ออัปเกรดโปรโตคอลหรือเปลี่ยนนโยบาย
ประเภทของอนุพันธ์แบบกระจายศูนย์ในโลกคริปโต
1. สัญญาฟิวเจอร์ส (Futures Contracts)
สัญญาฟิวเจอร์สคือข้อตกลงทางการเงินที่อนุญาตให้เทรดเดอร์ทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต โดยพื้นฐานแล้ว ฟิวเจอร์สคือสัญญาที่ตกลงจะซื้อหรือขายสินทรัพย์ในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ณ วันที่ในอนาคตที่ระบุ
ในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ฟิวเจอร์สมักซื้อขายกันในกระดานแลกเปลี่ยนแบบรวมศูนย์ (CEX) แต่ใน DeFi เทรดเดอร์สามารถเข้าถึงฟิวเจอร์สได้ในสภาพแวดล้อมแบบกระจายศูนย์ และซื้อขายกันโดยตรงบนบล็อกเชนโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง
ฟิวเจอร์สแบบกระจายศูนย์สามารถเป็นแบบมีวันหมดอายุ หรือแบบ Perpetual (ไร้วันหมดอายุ) ก็ได้ ซึ่งฟิวเจอร์สแบบ Perpetual ออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับประสบการณ์ของฟิวเจอร์สดั้งเดิม แต่ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา จึงเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดใน DeFi
แม้ว่าสัญญา Perpetual จะมีความยืดหยุ่นและเข้าถึงได้ง่ายกว่าสัญญาแบบมีวันหมดอายุ แต่ก็มีความเสี่ยงสูง เช่น การใช้เลเวอเรจสูงเกินไป และค่าธรรมเนียม funding ที่ผันผวน
2. สัญญาออปชัน (Options Contracts)
ออปชันคือสัญญาทางการเงินที่ให้สิทธิ (แต่ไม่ใช่ภาระผูกพัน) แก่ผู้ถือในการซื้อหรือขายสินทรัพย์อ้างอิง ณ ราคาที่กำหนดภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งในโลกคริปโตก็มีการใช้งานแบบเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนถือ ETH และกังวลว่าราคาอาจตกลงในอนาคต พวกเขาสามารถซื้อ Put Option ซึ่งจะให้สิทธิในการขาย ETH ที่ราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าราคาตลาดจะลดลงแค่ไหน จึงช่วยลดความเสี่ยงขาดทุนได้
ในทางกลับกัน หากนักลงทุนคาดว่าราคา ETH จะเพิ่มขึ้น พวกเขาอาจซื้อ Call Option ซึ่งให้สิทธิในการซื้อ ETH ที่ราคาที่ระบุไว้ หากราคาตลาดพุ่งเกินจุดนั้น นักลงทุนก็สามารถทำกำไรได้
3. สินทรัพย์สังเคราะห์ (Synthetic Assets)
สินทรัพย์สังเคราะห์ หรือที่เรียกว่า “Synths” คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่จำลองมูลค่าของสินทรัพย์จริง เช่น หุ้น ทองคำ คริปโต หรือแม้แต่สัญญาอนุพันธ์อื่น ๆ โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน
Synths เป็นอนุพันธ์ที่ถูกโทเค็นไนซ์ (tokenized) ซึ่งอาจรวมคุณลักษณะเฉพาะของสินทรัพย์อ้างอิง เช่น อัตราเงินเฟ้อ โดยไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์จริงรองรับโดยตรง
แม้จะคล้ายกับ stablecoin แต่ synths มีความหลากหลายมากกว่า เพราะสามารถแทนค่าได้ทั้งหุ้น โลหะมีค่า altcoin ฟิวเจอร์ส หรือออปชัน
เป้าหมายของสินทรัพย์สังเคราะห์คือการใช้ความโปร่งใสและการเข้าถึงแบบเปิดของบล็อกเชน เพื่อให้ใครก็ตามทั่วโลกสามารถเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการแบบดั้งเดิมที่ยุ่งยาก
ความท้าทายของอนุพันธ์ในระบบ DeFi
การซื้อขายอนุพันธ์ใน DeFi มีความเสี่ยงมากกว่าการเทรดคริปโตทั่วไป เพราะอนุพันธ์เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีความซับซ้อนและมีความผันผวนสูง ซึ่งอาจทำให้กำไรหรือขาดทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น
หนึ่งในปัญหาหลักคือ สภาพคล่องต่ำ เนื่องจาก DEX (กระดานเทรดแบบกระจายศูนย์) ยังใหม่และอาจมีปริมาณการซื้อขายไม่มาก ทำให้บางครั้งอาจเทรดไม่ได้ทันที นอกจากนี้ DEX ยังใช้งานยากกว่าสำหรับมือใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมต่อกระเป๋าเงิน และการจัดเก็บ seed phrase หากลืมหรือทำหายก็อาจสูญเสียเงินทั้งหมดได้
DEX ยังต้องพึ่งพาบล็อกเชนซึ่งอาจทำให้การซื้อขายช้าลง หรือมีค่าธรรมเนียมสูงหากเครือข่ายแออัด ต่างจาก CEX ที่ทำงานแบบเรียลไทม์โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่อง block time
สุดท้ายคือ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย เพราะ DEX ใช้ smart contract ในการรันแพลตฟอร์ม ซึ่งหากโค้ดมีบั๊กหรือช่องโหว่ ก็อาจถูกแฮกหรือทำให้สัญญาอนุพันธ์ล้มเหลวได้
ดังนั้น ก่อนใช้งานแพลตฟอร์มอนุพันธ์ใน DeFi ควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ (DYOR) ทั้งในเรื่องทีมพัฒนา ประเภทของอนุพันธ์ และความปลอดภัยของ smart contract
สรุป
ด้วยการเติบโตของอนุพันธ์ในโลก DeFi นักลงทุนสามารถเก็งกำไรจากความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวกลาง เมื่อเทคโนโลยีบล็อกเชนพัฒนาไปเรื่อย ๆ เราจะได้เห็นเครื่องมือการเงินใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นในรูปแบบกระจายศูนย์ อย่างไรก็ตาม ก่อนเริ่มเทรด อย่าลืมประเมินประสบการณ์ของตัวเอง ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และขอบเขตของการขาดทุนที่คุณสามารถรับมือได้