กระเป๋าเงิน
ออเดอร์
ไทย
USD

กรณีการใช้งานบล็อกเชน: ซัพพลายเชน

2024-02-01

ซัพพลายเชนคือ เครือข่ายของผู้คนและธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการสร้างและกระจายผลิตภัณฑ์หรือบริการหนึ่งๆ ตั้งแต่ซัพพลายเออร์แรกเริ่มไปจนถึงผู้ใช้ปลายทางและลูกค้า ระบบซัพพลายเชนโดยพื้นฐานมักประกอบด้วยผู้จัดหาอาหารหรือวัตถุดิบ, ผู้ผลิต (ขั้นตอนการแปรรูป), บริษัทโลจิสติกส์ และผู้ค้าปลีกขั้นสุดท้าย

ปัจจุบัน ระบบการบริหารซัพพลายเชนประสบปัญหาเนื่องจากขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส และเครือข่ายส่วนใหญ่พบปัญหาในการพยายามผสานรวมทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ตามหลักการแล้ว ผลิตภัณฑ์และวัสดุ ตลอดจนเงินและข้อมูลจำเป็นจะต้องเคลื่อนย้ายได้อย่างราบรื่นตลอดขั้นตอนต่างๆ ของเชน

อย่างไรก็ตาม โมเดลในปัจจุบันทำให้การรักษาระบบซัพพลายเชนที่สม่ำเสมอและคงประสิทธิภาพสามารถทำได้ยาก ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงราคาขายปลีกขั้นสุดท้ายด้วย

ปัญหาเร่งด่วนที่สุดของบางส่วนของซัพพลายเชนสามารถแก้ได้โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชน เนื่องจากเป็นวิธีการใหม่ในการบันทึก ถ่ายโอน และแชร์ข้อมูล

ข้อดีจากการใช้บล็อกเชนกับซัพพลายเชน

เนื่องจากบล็อกเชนได้รับการออกแบบให้เป็นระบบแบบกระจาย จึงทนทานสูงต่อการดัดแปลง และเหมาะสมกับเครือข่ายซัพพลายเชนเป็นอย่างดี บล็อกเชนประกอบด้วยบล็อกข้อมูลที่เรียงร้อยต่อกัน ซึ่งเชื่อมโยงกันผ่านเทคนิคการเข้ารหัสเพื่อรับรองว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขข้อมูลที่เก็บเอาไว้ได้  เว้นแต่ทั้ง Network จะยินยอม

ดังนั้นระบบบล็อกเชนจึงมีสถาปัตยกรรมที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้สำหรับการถ่ายทอดข้อมูล แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วจะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อบันทึกธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซี แต่ตัวเทคโนโลยีก็ประโยชน์อย่างมากในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลดิจิทัลทุกประเภท อีกทั้งการนำไปใช้กับเครือข่ายซัพพลายเชนก็อาจมีข้อดีมากมาย

บันทึกที่โปร่งใสและคงทนถาวร

ลองนึกภาพว่าเรามีบริษัทและสถาบันหลายแห่งทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจเลือกใช้ระบบบล็อกเชนเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และความเป็นเจ้าของวัสดุและผลิตภัณฑ์ สมาชิกทุกคนภายในซัพพลายเชนสามารถมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อมีการย้ายทรัพยากรจากบริษัทหนึ่งไปอีกบริษัทหนึ่ง เนื่องจากบันทึกข้อมูลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่มีคำถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบหากเกิดสิ่งผิดปกติขึ้น

ลดต้นทุน

ความสิ้นเปลืองมากมายเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพภายในเครือข่ายซัพพลายเชน ซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปในอุตสาหกรรมที่มีสินค้าเน่าเสียง่าย ข้อมูลที่ปรับปรุงให้สามารถติดตามได้และมีความโปร่งใสจะช่วยให้บริษัทต่างๆ ค้นพบความสิ้นเปลืองเหล่านี้ เพื่อกำหนดมาตรการที่ช่วยประหยัดต้นทุนได้

บล็อกเชนยังกำจัดค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับเงินที่ส่งเข้าและออกจากบัญชีธนาคารและผู้ประมวลผลการชำระเงินต่างๆ ได้ด้วย หากสามารถเอาค่าธรรมเนียมออกจากสมการได้ ก็จะลดส่วนต่างกำไรได้

การสร้างข้อมูลที่ทำงานร่วมกันได้

หนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของซัพพลายเชนในปัจจุบันคือการไม่สามารถรวมข้อมูลจากพาร์ทเนอร์ทุกรายในกระบวนการเข้าด้วยกันได้ บล็อกเชนสร้างขึ้นเป็นระบบแบบกระจายที่รักษาพื้นที่เก็บข้อมูลในแบบเฉพาะตัวและมีความโปร่งใส แต่ละ Node ของ Network (แต่ละฝ่าย) จะมีส่วนในการเพิ่มข้อมูลใหม่และยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งหมายความว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่จัดเก็บไว้ในบล็อกเชนได้ ดังนั้นบริษัทหนึ่งจึงสามารถตรวจสอบว่าอีกฝ่ายเผยแพร่ข้อมูลใดบ้างได้ไม่ยาก

แทนที่ EDI

บริษัทหลายแห่งใช้ระบบ Electronic Data Interchange (EDI) ในการส่งข้อมูลทางธุรกิจระหว่างกัน แต่ข้อมูลนี้มักส่งออกเป็นชุดๆ แทนที่จะส่งออกแบบเรียลไทม์ หากการจัดส่งสินค้าสูญหายหรือมีการราคาเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สมาชิกรายอื่นในซัพพลายเชนจะได้รับข้อมูลนี้หลังจากที่ EDI ชุดถัดไปหมดลงเท่านั้น แต่บล็อกเชนจะช่วยอัปเดตข้อมูลเป็นประจำและสามารถเผยแพร่ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว

การแชร์ข้อตกลงและเอกสารแบบดิจิทัล

ความจริงเพียงเวอร์ชันเดียวมีความสำคัญสำหรับการแชร์เอกสารในซัพพลายเชนทุกประเภท โดยสามารถเชื่อมโยงเอกสารและสัญญาที่จำเป็นเข้ากับธุรกรรมบล็อกเชนและลายเซ็นดิจิทัลได้ ดังนั้นทุกฝ่ายในซัพพลายเชนจึงเข้าถึงข้อตกลงและเอกสารต้นฉบับได้ 

บล็อกเชนช่วยรับรองความคงทนถาวรของเอกสาร และข้อตกลงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบรรลุข้อตกลง (Consensus) ร่วมกัน ด้วยวิธีนี้ องค์กรต่างๆ จึงลดเวลาที่ต้องจ้างทนายความในการตรวจดูเอกสารหรือใช้เวลาที่โต๊ะเจรจา จึงมีเวลามากขึ้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ

ความท้าทายของการนำบล็อกเชนมาใช้ในการบริหารซัพพลายเชน

แม้ว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะมีศักยภาพอย่างมากต่ออุตสาหกรรมซัพพลายเชน แต่ก็มีความท้าทายและข้อจำกัดบางประการที่ควรพิจารณา

การนำระบบใหม่มาใช้

ระบบที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์สำหรับ ซัพพลายเชน ขององค์กรอาจไม่สามารถปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบบล็อกเชนได้ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและกระบวนการทางธุรกิจทั้งหมดของบริษัท นับเป็นภารกิจสำคัญที่อาจทำให้การดำเนินงานชะงักและแย่งชิงทรัพยากรจากโปรเจกต์อื่นๆ ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงอาจลังเลที่จะลงทุน หากไม่ได้เห็นผู้เล่นหลักรายอื่นๆ ในอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย

การหาพาร์ทเนอร์เข้าร่วม

พาร์ทเนอร์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในซัพพลายเชนเองก็ต้องยินยอมใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนด้วย แม้ว่าองค์กรจะได้รับประโยชน์จากการใช้บล็อกเชนกับกระบวนการเพียงบางส่วนก็ตาม แต่หากมีองค์กรใดที่ไม่ยอมใช้งานด้วย ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากบล็อกเชนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ความโปร่งใสไม่ใช่สิ่งที่ทุกบริษัทต้องการ

การจัดการความเปลี่ยนแปลง

เมื่อลงทุนตั้งระบบบล็อกเชนขึ้นมาแล้ว ธุรกิจจะต้องส่งเสริมให้พนักงานของตนนำระบบดังกล่าวไปใช้งาน แผนจัดการความเปลี่ยนแปลงควรระบุว่าบล็อกเชนคืออะไร จะปรับปรุงภาระการงานอย่างไร และจะทำงานกับระบบใหม่ที่มีได้อย่างไร การจัดโปรแกรมฝึกอบรมอย่างต่อเนื่องอาจช่วยแนะนำให้คุ้นเคยกับคุณสมบัติหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในเทคโนโลยีบล็อกเชนได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาและทรัพยากรอย่างเลี่ยงไม่ได้

มองไปสู่อนาคต

ผู้เล่นรายใหญ่หลายรายในอุตสาหกรรมซัพพลายเชนกำลังเปิดรับระบบแบบกระจายที่ใช้บล็อกเชน และจัดเตรียมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการนำมาใช้งาน มีแนวโน้มว่าเราจะได้เห็นแพลตฟอร์มซัพพลายเชนทั่วโลกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อปรับปรุงวิธีการที่บริษัทจะแชร์ข้อมูลในขณะที่เคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์และวัสดุ

เทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถเปลี่ยนองค์กรได้หลายวิธี ตั้งแต่การผลิตและการแปรรูป ไปจนถึงลอจิสติกส์และความรับผิดชอบ ทุกกิจกรรมจะลงเป็นบันทึกและยืนยันได้ เพื่อสร้างบันทึกที่โปร่งใสและคงทนถาวร ดังนั้น การใช้บล็อกเชนในเครือข่ายซัพพลายเชนจึงมีศักยภาพในการเติมเต็มจุดที่ยังด้อยประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในรูปแบบการบริหารจัดการแบบดั้งเดิม